ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง
ชื่อเดิม “สำนักงานพัฒนาชุมชน เขต 5” จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 (ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมการพัฒนาชุมชนออกเป็นเขต พ.ศ. 2506) เขตภาคเหนือ (ลำปาง) จัดตั้งเป็นอันดับสองของการแบ่งส่วนราชการจากส่วนกลางเป็นเขต แห่งแรกจัดตั้งที่เขตภาคอีสาน (อุบลราชธานี) โดยตั้งที่ทำการชั่วคราว เช่าอยู่บ้านเลขที่ 104/7 หมู่บ้านสุขสวัสดิ์ ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง ในอัตราเดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2511
ต่อมา กรมการพัฒนาชุมชนได้ขอให้จังหวัดลำปาง ทำการขอสงวนที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จำนวน 51 ไร่ 3 งาน และมีผู้บริจาคที่ดินที่ติดต่อกันทางทิศตะวันตกอีกเล็กน้อย จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. พ่อเลี้ยงชื่น – แม่เลี้ยงมอญ วิตา 2. พ่อสิน – แม่หอม ตรียกูล อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านทุ่งกู่ด้าย หมู่ที่ 6 (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของบ้านหนองห้า หมู่ที่ 10 ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตามประกาศอำเภอเมืองลำปาง เรื่อง ขอสงวนที่ดิน ฉบับที่ 1/2511 ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511
ขณะเดียวกันกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับงบประมาณ ในปี พ.ศ. 2513 เป็นค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานพัฒนาชุมชนเขต 5 ในวงเงิน 1,450,000 บาท (หนึ่งล้านสี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) เป็นอาคารตึกสองชั้น แยกเป็นอาคารที่ทำการ 1 หลัง อาคารหอพักผู้เข้ารับการฝึกอบรม 1 หลัง ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2513 แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2514
ปีงบประมาณ 2514 กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้าง บ้านพักข้าราชการชั้นเอก 1 หลัง (บ้านรับรอง 1) บ้านพักข้าราชการชั้นโท จำนวน 2 หลัง (เลขที่ 83/2 , 3) บ้านพักข้าราชการชั้นตรี 5 หลัง (เลขที่ 83/5-9) บ้านเรือนแถวคนงาน โรงเก็บวัสดุ 1 หลัง โรงซ่อม 1 หลัง ประปาบาดาล 1 แห่ง และเสาธงชาติหน้าสำนักงาน 1 แห่ง
ปีงบประมาณ 2519 ได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างบ้านพักข้าราชการชั้นตรีจำนวน 2 หลัง (83/4 ,10) และโรงเก็บรถยนต์
ปีงบประมาณ 2539 ได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างบ้านพักผู้อำนวยการแบบ 2 ชั้น อาคารเอนกประสงค์ 1 หลัง และเครื่องกรองน้ำดื่มพร้อมอุปกรณ์ 1 แห่ง
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 5 ลำปาง รับผิดชอบให้บริการพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ น่านแม่ฮ่องสอน และจังหวัดอุตรดิตถ์
ปัจจุบันชื่อ “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง” จัดตั้งขึ้นตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2552 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 126 ตอนที่ 23 ก. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2552 รับผิดชอบให้บริการพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน
ปีงบประมาณ 2559 ได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชนก่อสร้างหอพักอาลัมภางค์ 2 ชั้น 32 ห้อง จำนวน 1 หลัง งบประมาณ รวม 23,467,000 บาท (ยี่สิบสามล้านสี่แสนหกหมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) เริ่มก่อสร้าง 29 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2559 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 270 วัน
ปีงบประมาณ 2560 ได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 2 รายการ
- ก่อสร้างอาคารโรงอาหาร ขนาด 120 ที่นั่ง จำนวน 1 หลัง เริ่มก่อสร้างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 แล้วเสร็จวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 เป็นเงิน 3,670,000 บาท
- ก่อสร้างอาคารหอประชุม ขนาด 250 ที่นั่ง จำนวน 1 หลัง เริ่มก่อสร้างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 แล้วเสร็จวันที่ 27 สิงหาคม 2560 เป็นเงิน 11,110,000 บาท
นอกจากนี้ศูนย์ฯ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างศาลาพระพุทธจัดสร้างสถานที่อันเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ศูนย์รวมจิตใจของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมและผู้มาใช้บริการที่ศูนย์ฯ จึงได้ดำเนินการเริ่มก่อสร้างวันที่ 28 มีนาคม 2560 แล้วเสร็จวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 รวมระยะเวลา 8 เดือน โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกิดจากจิตศรัทธาของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน สถาบันการพัฒนาชุมชน ข้าราชการบำนาญ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และผู้มีจิตศรัทธา เงินทั้งหมดใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุก่อสร้าง ส่วนแรงงานในการก่อสร้างนั้นเป็นงานฝีมือของเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ผู้เสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ ศูนย์ฯลำปาง มีส่วนร่วมสนับสนุน โดยใช้เงินในการก่อสร้างทั้งสิ้น จำนวนเงินทั้งสิ้น 137,105 บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นเจ็ดพันหนึ่งร้อยห้าบาทถ้วน)
ปัจจุบันศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง มีอาคารสถานที่ในความรับผิดชอบ ดังนี้
- อาคารอำนวยการ (2ชั้น) จำนวน 1 หลัง
- อาคารหอพักอาคารลีลาวดี (2ชั้น) จำนวน 1 หลัง
- อาคารหอพักเยาวสตรี (2ชั้น) จำนวน 1 หลัง
- อาคารเอนกประสงค์ จำนวน 1 หลัง
- อาคารโรงอาหาร จำนวน 2 หลัง (โรงอาหารกาสะลองและโรงอาหารก๋าไก่)
- โรงจอดรถยนต์ จำนวน 4 หลัง
- อาคารศาลากลางน้ำ จำนวน 1 หลัง
- บ้านพักผู้อำนวยการ จำนวน 1 หลัง
- บ้านพักรับรอง จำนวน 2 หลัง
- บ้านพักข้าราชการ จำนวน 9 หลัง
- บ้านเรือนแถวใต้ถุนสูง จำนวน 1 หลัง (5ห้อง)
- ศาลพระภูมิ จำนวน 1 แห่ง
- ป้อมยาม จำนวน 1 หลัง
- เรือนเพาะชำ จำนวน 2 หลัง
- ศาลาแปดเหลี่ยม จำนวน 1 หลัง
- สนามฟุตบอล จำนวน 1 แห่ง
- สระเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง
- อาคารหอพักเฮือนอาลัมภางค์ (32 ห้อง 2 ชั้น) จำนวน 1 หลัง
- อาคารหอประชุมทิพย์ช้าง (2 ชั้น) จำนวน 1 หลัง
- ศาลาพระพุทธ จำนวน 1 หลัง
- อาคารหอพักเฮือนขะจาว (34 ห้อง 3 ชั้น) จำนวน 1 หลัง